วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผักมันแกว

มันแกว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachyrhizus erosus (L.) Urb.
วงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Pachyrhizus angulatus Rich ex DC.
Pachyrhizus bulbosus (L.) Kurz
ชื่อไทย :มันแกว*, เครือเขาขน, ถั่วกินหัว, ถั้วบ้ง, มันแกวละแวก, มันแกวลาว, มันละแวก, มันลาว, หมากบ้ง, หัวแปะกัวะ
ชื่ออังกฤษ : JICAMA, YAM BEAN
ปัจจุบันมีการปลูกมันแกวอยู่เกือบทั่วประเทศ มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสมกับภูมิประเทศ มีปลูกมากอยู่ใน ๕๔ จังหวัด ปลูกมากที่สุดในภาคกลาง ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร รองลงไป ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉพียงเหนือ จังหวัดที่ปลูกมากได้แก่ มหาสารคาม หนองคาย ขอนแก่น ภาคเหนือปลูกไม่มากนัก ที่จังหวัดลำปาง เชียงราย ส่วนภาคใต้ปลูกมันแกวน้อยกว่าภาคอื่น ๆ มีปลูกมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ฤดูปลูก
มันแก้วขึ้นได้ในดินฟ้าอากาศหลายชนิดชอบอากาศค่อนข้างร้อน มีฝนปานกลาง ในอากาศที่หนาว ระยะเจริญเติบโตจะยาวนาน ในการผลิตหัวต้องการวันสั้น ถ้าปลูกในที่ที่มีวันยาวถึง ๑๔-๑๕ ชั่วโมง การเจริญเติบโตดี แต่ไม่ผลิตหัว ควรปลูกในระยะต้นถึงปลายฤดูฝน เพื่อเก็บหัวในฤดูแล้ว ถ้าปลูกฤดูแล้งหลังจากฝนหมดแล้ว จะมีหัวในเวลาไม่นานนัก เช่น ปลูกเดือนพฤศจิกายน จุเก็บหัวได้ในราวเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ แต่จะได้หัวเล็ก เพื่อให้ได้หัวโต ควรปลูกราวเดือนมิถุนายน
การเลือกและการเตรียมที่
มันแกวชอบดินที่มีการระบายน้ำดี มีการเตรียมดินดี ไม่ชอบดินเหนียว น้ำขัง ชอบดินร่วนทราย การเตรียมดินก็เป็นเช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่อื่น ๆ มีการไถพรวน พรวนให้ดินร่วนซุยดี เก็บวัชพืชให้หมดและยกร่องเพื่อปลูกมันแกวบนสันร่อง
วิธีปลูก
ปลูกด้วยเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ มีบางครั้งปลูกโดยใช้หัว เพื่อรักษาลักษณะที่ดีไว้ ปลูกหลุมละ ๒-๓ เมล็ด ในบางประเทศปลูกโดยใช้ระยะระหว่างแถว ๖๐-๗๕ ซม. ระยะระหว่างหลุม ๓๐-๔๐ ซม. อินเดียและฟิลิปปินส์ ใช้ระยะระหว่างแถว ๑๕-๒๐ ซม. ระหว่างต้น ๑๐ ซม. ผลการทดลองใช้ระยะ ๑๕x๑๕ ซม. ให้ผลดี ประเทศไทยปลูกโดยวิธียกร่อง ระยะระหว่างแถว ๘๐-๑๐๐ ซม. ระหว่างต้นแตกต่างกัน ชนิดหัวเล็กต้นห่างกัน ๑๐-๒๐ ซม. ชนิดหัวใหญ่ห่างกัน ๓๐-๕๐ ซม. ถ้าไม่ยกร่องระยะระหว่างแถวแคบกว่านี้เล็กน้อย
ในเนื้อที่ ๑ ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๘ กก. หรือประมาณครึ่งถัง

การทำค้าง
มันแกวที่ปลูกฤดูฝน สิ่งสำคัญในการปฏิบัติได้แก่ การทำค้างให้ต้นมันแกวเลื้อย ใช้ไม้ไผ่หรือกิ่งไม้สูงประมาณ ๒-๓ เมตร ปัดให้ต้นมันแกวเลื้อยและช่วยจัดให้ยอดของมันแกวเลื้อยขึ้นไปตามไม้ที่ปัก การปลูกมันแกวฤดูแล้งไม่ต้องทำค้าง
การพรวนดิน
ถ้าปลูกฤดูฝน ควรพรวนดินพร้อมกับกำจัดวัชพืชไม่ให้วัชพืชขึ้นปกคลุม ต้นมันแกวปำติต้องกำจัดวัชพืช ๒-๓ ครั้ง สำหรับการปลูกมันแกวในฤดูแล้งไม่ให้น้ำ ไม่ต้องพรวนดินและกำจัดวัชพืช
การเด็ดยอด
การปลูกมันแกวในฤดูฝนนั้นจำเป็นต้องเด็ดยอดและดอก ถ้าไม่เด็ดมันแกวจะเจริญเติบโตทางต้น ใบ ดอก ฝัก ทำให้มีหัวเล็ก การเด็ดยอดและดอกจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ถ้าปลูกต้นฤดูฝนในราวเดือนมิถุนายน ทำการเด็ดยอด ๓ ครั้ง ครั้งแรกอายุ ๒ เดือน ขณะที่เถายาวประมาณ ๑-๑.๕ เมตร ครั้งที่สอง อายุประมาณ ๓ เดือน และครั้งที่สามอายุประมาณ ๔ เดือน หรือจะเด็ดเพียง ๒ ครั้ง เมื่ออายุ ๒ กับ ๔ เดือนก็ได้ ถ้าปลูกปลายฝนเด็ดยอดครั้งเดียวเป็นการเพียงพอ แต่ถ้าปลูกหลังฤดูฝน ไม่ต้องทำการเด็ดยอดเลย สำหรับการปลูกมันแกวเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ปลูก ไม่ต้องทำการเด็ดยอดและดอก ปล่อยให้เจริญเติบโตตามปกติ เพื่อให้ได้เมล็ดมากและเมล็ด มีคุณภาพดีในทางปฏิบัติกสิกรเด็ดยอดโดยการใช้ไม้คล้ายไม้เรียวหวดให้ยอดขาด หรือหักไม่ให้เจริญเติบโตต่อไป

การใส่ปุ๋ย
ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยคอก ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ละแห่งในต่างประเทศใช้ปุ๋ยผสม เกรด ๑๒-๒๔-๑๒ ในอัตรา ๕๐-๖๕ กก./ไร่ ก่อนปลูกและเพิ่มแอมโมเนียมซัลเฟตอีกประมาณ ๓๐ กก./ไร่ เมื่อต้นมันแกวเริ่มเลื้อย
โรคและแมลง
ไม่ปรากฏว่ามีโรคและแมลงที่รบกวนต้นมันแกวมากนัก
ผลผลิตโดยทั่วไปในเนื้อที่ ๑ ไร่ จะได้หัวมันแกวสดประมาณ ๒-๖ ตัน
การเก็บหัวและรักษา
มันแกวที่ปลูกฤดูฝนจะแก่เมื่ออายุประมาร ๕-๘ เดือน แต่ถ้าจะเก็บเมล็ดต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐ เดือน ให้สังเกตดูใบมันแกว เมื่อใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แสดงว่าเริ่มเก็บหัวได้แล้ว มันแกวชนิดหัวเล็กปลูกหลังฤดูฝน เก็บได้เมื่ออายุ ๓ เดือน
ถ้าปลูกน้อย เก็บโดยการขุดด้วยจอบ เสียม ถ้าปลูกมากอาจใช้ไถพลิกหัวมันแกวขึ้นมา เมื่อเก็บหัวมาแล้วล้างน้ำให้สะอาด แล้วส่งตลาดหรือเก็บรักษาไว้ต่อไป
การเก็บรักษามันแกวที่ดีวิธีหนึ่ง คือ ไม่ขุดขึ้นจากดิน วิธีนี้จะสามารถทิ้งหัวมันแกวไว้ในดินได้อีกประมาร ๒-๓ เดือน โดยไม่ให้น้ำ หัวจะไม่เสีย เพียงแต่แห้งไปบ้าง และจะมีรสหวานมากขึ้น ถ้าขุดขึ้นมาแล้วจะเก็บรักษาได้โดยเก็บไว้ในอุณหภูมิ ๐ องศาเซลเซียส จะเก็บได้นานประมาณ ๒ เดือน

ประโยชน์ของมันแกว
องค์ประกอบของส่วนต่าง ๆ ของมันแกว มีดังนี้
หัว หัวมันแกวประกอบด้วยแป้งและน้ำตาล และมีวิตามิน ซี มาก ผลจากการวิเคราะห์ประกอบด้วย ความชื้นร้อยละ ๘๒.๓๘ โปรตีนร้อยละ ๑.๔๗ ไขมันร้อยละ ๐.๐๙ แป้งร้อยละ ๙.๗๒ น้ำตาลร้อยละ ๒.๑๗ non-reducing sugar ร้อยละ ๐.๕๐ เหล็ก (Fe) ๑.๑๓ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ กรัมของโปรตีนที่เกินได้ แคลเซียม (Ca) ๑๖.๐ มิลลิกรัม ไทอามีน ๐.๕ มิลลิตกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๒ มิลลิกรัม กรดเอสโคนิก ๑๔ มิลลิกรัม
ฝัก ฟิลิปปินส์ทำการวิเคราะห์ฝักปรากฏว่าประกอบด้วยความชื้อร้อยละ ๘๖.๔ โปรตีนร้อยละ ๒.๖ ไขมันร้อยละ ๐.๓ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๑๐.๐ เส้นใยร้อยละ ๒.๙ เถ้าร้อยละ ๐.๗ แคลเซียม ๑๒๑ มิลลิกรัม/๑๐๐ กรัม ฟอสฟอรัส (P) ๓๙ มิลลิกรัม เล็ก ๑.๓ มิลลิกรัม วิตามินเอ 575 IU ไทอามิน ๐.๑๑ มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๙ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๐.๘ มิลลิกรัม
เมล็ด ประกอบด้วยน้ำมันที่ใช้กินได้ร้อยละ ๒๐.๕-๒๘.๔ ผลการวิเคราะห์เมล็ดประกอบด้วยความชื้นร้อยละ ๖.๗ โปรตีนร้อยละ ๒๖.๗ น้ำมันร้อยละ ๒๗.๓ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๒๐.๐ เส้นใยร้อยละ ๗.๐ เถ้าร้อยละ ๓.๖๘ เมล็ดแก่เป็นพิษเนื่องจากประกอบด้วยโรตีโนนร้อยละ ๐.๑๒-๐.๔๓ และไอโซฟลาวาโนน และ ทุฟูราโน -๓- ฟีนิลดูมาริน
ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ของมันแกว ส่วนใหญ่คือหัว หัวสดใช้เป็นอาหาร เป็นผลไม้และผัก หรือจะใช้หุงต้มปรุงอาหารก็ได้ หัวเล็ก ๆ หรือเศษของหัวใช้เลี้ยงสัตว์ ฝักอ่อนต้มรับประทานเป็นผัก เมล็ดใช้ทำพันธุ์ เมล็ดแก่ป่นหรือบดใช้เป็นยาฆ่าแมลงหรือใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ฝักแก่และเมล็ดแก่เป็นพิษต่อการบริโภคของคนและสัตว์ เนื่องจากเมล็ดมีน้ำมัน ซึ่งคล้ายน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย น้ำมันจากเมล็ดมันแกวกินได้ ต้นหรือเถามันแกวมีความเหนียว ในประเทศฟิจิ ใช้ทำแห อวน ได้




ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK5/chapter5/t5-5-l3.htm#sect1a
จัดทำโดย : ดาราวรรรณ ทวีศักดิ์บวรกุล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น